
เคเบิลอินเทอร์เน็ต (Cable internet)
เคเบิลอินเทอร์เน็ต (Cable Internet) เป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยใช้โครงข่ายเดิม
ของระบบเคเบิลทีวี โดยเพิ่มสัญญาณเข้าไปในสายเคเบิลเดิมของระบบเคเบิลทีวี เช่นเดียวกับที่ DSL ใช้สายเส้นเดียวกันกับระบบโทรศัพท์
การให้บริการเคเบิลอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะต้องติดตั้งเคเบิลโมเด็มที่ฝั่งผู้ใช้ และติดตั้ง CMTS
(Cable Modem Termination System) ที่ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี
(โดยปกติจะติดตั้งที่ชุดจ่ายสัญญาณ หรือบริเวณที่ติดตั้งชุดกระจายสัญญาณ) โดยเชื่อมต่อทั้งสองจุดด้วยสายเคเบิลแบบแกนร่วม
(coaxial cable) หรือสายเคเบิลแบบ HFC (Hybrid Fiber Coaxial) ซึ่งสายเคเบิลแบบหลังจะได้รับความนิยมมากกว่า
ปกติแล้ว ระบบเคเบิลอินเทอร์เน็ตจะทำงานได้โดยมีระยะห่างระหว่างเคเบิลโมเด็มและ CMTS ได้มากถึง 100 ไมล์
(160 กม.) ถ้าเครือข่ายของสายเคเบิลแบบ HFC มีขนาดใหญ่มาก อาจจะนำ CMTS มาติดตั้งไว้รวมกันเป็นกลุ่ม
(hub) เพื่อให้บริหารจัดการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อัตราการส่งข้อมูลไปยังผู้ใช้ (downstream) อาจจะสูงได้ถึง 400 Mbit/s
สำหรับการใช้งานในภาคธุรกิจ และ100 Mbit/s สำหรับผู้ใช้ทั่วไปโดยขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการในแต่ละประเทศ
ส่วนอัตราการส่งข้อมูลไปยังผู้ให้บริการ (upstream) ทำได้ตั้งแต่ 384 Kbit/s ไปจนถึงมากกว่า 20Mbit/s
โดยที่ในหนึ่งช่องสัญญาณของการรับข้อมูลไปยังผู้ใช้ (downstream)
สามารถเชื่อมต่อกับเคเบิลโมเด็มได้หลายร้อยเครื่อง และเมื่อระบบมีการเติบโตมากขึ้น ก็สามารถที่จะเพิ่มเติมจำนวนช่องสัญญาณ
ของการรับข้อมูลไปยังผู้ใช้ และการส่งข้อมูลไปยังผู้ให้บริการที่ CMTS ได้

มาตรฐานต่าง ๆ ของเคเบิลโมเด็ม
มาตรฐาน DOCSIS (Data Over Cable Service Interface Specification)
เป็นมาตรฐานสากลที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง CableLabs กับบริษัทต่าง ๆ เช่น
ARRIS, BigBand Networks, Broadcom, Cisco, Conexant, Correlant, Harmonic, Intel, Motorola, Netgear, Terayon และ Texas Instruments ซึ่ง DOCSIS
จะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานการติดต่อสื่อสารและการใช้งานบริการด้านต่าง ๆ ของระบบการส่งข้อมูลผ่านสายเคเบิล
มาตรฐานฉบับนี้ทำห้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการรับส่งข้อมูลความเร็วสุงบนสายเคเบิลเดิมของระบบเคเบิลทีวี (CATV) ได้
และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายโดยผู้ให้บริการเคเบิลทีวีเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโครงข่ายสายเคเบิลแบบ HFC (Hybrid Fiber Coaxial)
มาตรฐานฉบับแรกของ DOCSIS (version 1.0) ถูกประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2540 และประกาศใช้ฉบับปรับปรุงแก้ไข (revision 1.1)
โดยเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับ Quality of Service (QoS) ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2542
และเนื่องจากความต้องการของบริการที่มีการอัตรารับส่งข้อมูลแบบสมมาตร (symmetric services)
เช่น บริการโทรศัพท์ผ่านระบบ IP (IP telephony) มีมากขึ้น มาตรฐาน DOCSIS
จึงถูกปรับปรุงอีกครั้งเพื่อเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลไปยังผู้ให้บริการ (upstream) เป็นมาตรฐาน DOCSIS 2.0
และประกาศใช้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 ส่วนมาตรฐานฉบับล่าสุดได้มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มอัตราการส่งผ่านข้อมูล
(ทั้งด้านการส่งข้อมูลไปยังผู้ใช้ และด้านการส่งข้อมูลไปยังผู้ให้บริการ) และมีการเพิ่มการสนับสนุน
IPv6 (Internet Protocol version 6) เข้าไปด้วยในมาตรฐาน DOCSIS 3.0 ซึ่งถูกประกาศใช้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549
เนื่องจากข้อกำหนดในการใช้งานย่านความถี่ของประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปแตกต่างกัน มาตรฐาน
DOCSIS จึงถูกแก้ไขเพื่อให้ใช้ได้ในยุโรป และถูกประกาศใช้ภายใต้ชื่อใหม่ว่า EuroDOCSIS
โดยจุดหลักที่แตกต่างกันก็คือ ความกว้างของช่องสัญญาณโทรทัศน์ ซึ่งในยุโรปใช้สัญญาณโทรทัศน์ระบบ PAL
ที่่มีความกว้างของช่องสัญญาณ 8MHz ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้สัญญาณโทรทัศน์แบบ NTSC
ที่มีความกว้างของช่องสัญญาณ 6MHz โดยการที่สัญญาณโทรทัศน์ในยุโรปมีความกว้างของช่องสัญญาณที่กว้างกว่า
ช่องสัญญาณในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้สถาปัตยกรรมของมาตรฐาน EuroDOCSIS
สามารถส่งข้อมูลไปยังผู้ใช้ได้มากกว่ามาตรฐานที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา