ReadyPlanet.com


'โลกแซ่ซ้อง' ช่วย 33 คนงานเหมือง 'ชิลี' สำเร็จเร็วกว่ากำหนด


เอเจนซีส์ - ทั่วโลกแซ่ซ้อง ปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานเหมืองชิลีทั้ง 33 คนเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดกระบวนการ จากวินาทีแรกที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยหย่อนแคปซูลช่วยเหลือลงไปตามปล่องทางออกที่ขุดเจาะเตรียมเอาไว้ ไปจนถึงภาพที่คนงานเหมืองคนแรกโผล่พ้นขึ้นมาดูโลกภายนอกเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 สัปดาห์ กระทั่งสิ้นสุดภารกิจที่คนงานคนสุดท้ายถูกดึงขึ้นมา ทุกขั้นตอนล้วนสะกดสายตาคนหลายล้านซึ่งเฝ้าชมอยู่หน้าจอทีวีที่มีการแพร่สัญญาณสดไปทั่วโลก ด้วยความลุ้นระทึก ระคนความปลื้มปิติและยินดีเคล้าน้ำตาเสมือนว่าคนงานเหล่านี้เป็นญาติมิตรของพวกเขาเอง

            วินาทีแห่งประวัติศาสตร์เริ่มนับหนึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยใจแกร่งนามว่า มานูเอล กอนซาเลซ เข้าไปในแคปซูล “ฟินิกส์” ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษด้วยขนาดความกว้าง 53 ซม. และสามารถจุคนได้เพียงคนเดียว จากนั้นระบบชักรอกก็เริ่มหย่อนแคปซูลที่ว่านี้ ลงไปตามปล่องทางออกที่ถูกขุดเจาะลึกลงไปจากพื้นดินกว่า 600 เมตรเชื่อมไปถึงที่พักหลบภัยฉุกเฉิน เพื่อนำคนงานซึ่งเป็นชาวชิลี 32 คนและชาวโบลิเวียอีก 1 คนที่ติดอยู่ในนั้นเป็นเวลากว่า 68 วัน กลับขึ้นไปทีละคนๆ ด้วยแคปซูลที่กอนซาเลซนำลงมาด้วยตัวเองนี้ ท่ามกลางสายตาคนนับล้านที่เฝ้าชมภาพสัญญาณสดจากหน้าจอโทรทัศน์ รวมไปถึงประจักษ์พยานต่างๆ ซึ่งรวมทั้งประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา แห่งชิลี และบรรดาญาติมิตรสหายที่มาเฝ้าเกาะติดสถานการณ์อย่างใจจดใจจ่อในบริเวณเหมืองซาน โฮเซที่พังถล่มปิดทางออกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
       
       และแล้วเสียงปรบมือก็ดังก้องไปทั่วเหมือง ทันทีที่แคปซูลฟินิกส์ที่ถูกหย่อนลงไปในเหมืองเมื่อเวลาราว 10.11 น. ของวันพุธ (13) ตามเวลาประเทศไทย ได้โผล่ขึ้นมาอีกครั้งในเวลาประมาณ 10.31 น. พร้อมกับคนงานเหมืองคนแรกที่ถูกช่วยขึ้นมาได้สำเร็จ คนงานผู้นี้มีชื่อว่า ฟลอเรนซิโอ อาบาลอส วัย 31 ปี เขาอยู่ในสภาพร่างกายที่แข็งแรงฟิตพร้อมที่สุดคนหนึ่งในกลุ่มคนงานทั้งหมดที่ติดอยู่ข้างใต้ ทั้งนี้การที่เลือก อาบาลอส เป็นคนแรกนั้นก็เพื่อป้องกันไว้หากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น เขาก็ยังมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะแบกรับได้ โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ซึ่งรออยู่ด้านบนปลดสายรัดต่างๆ ภายในแคปซูลที่พาคนงานคนแรกขึ้นมานี้ออกหมดแล้ว อาบาลอสก็ปรี่เข้าไปสวมกอดลูกชายวัย 7 ขวบและภรรยาทันที ตามมาด้วยการเข้าไปกอดประธานาธิบดีปิเนรา ที่ยิ้มแก้มไม่หุบจากความสำเร็จก้าวแรกอันยิ่งใหญ่นี้
       
       จากนั้น มาริโอ เซปุลเวดา ก็เป็นรายที่ 2 ที่ขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์บนพื้นผิวโลก เขาร้องลั่นด้วยความสะใจพร้อมกับหยิบของที่ระลึกจากกระเป๋าของเขาซึ่งเป็นก้อนหินมาฝากแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัยซึ่งอยู่ในบริเรณนั้น รวมทั้งฝากตัวประธานาธิบดีเองด้วย เรียกเสียงฮาแก่ผู้คน ณ ที่นั้นไปตามๆ กัน พร้อมกับคลายความเครียดให้แก่คนที่รอลุ้นกันตัวเกร็งได้มากโข
       
       ต่อมา ฮวน อิลลาเนส วัย 52 ปี ก็เป็นคนที่ 3 ที่ถูกดึงขึ้นมา ติดตามมาด้วย คาร์ลอส มามานี ชาวโบลีเวียหนึ่งเดียว วัย 23 ปี ซึ่งเป็นคนที่ 4 ต่อด้วย จิมมี ซานเชส ซึ่งมีอายุน้อยที่สุด 19 ปี เป็นคนที่ 5, ออสมาน อารายา วัย 30 ปี เป็นคนที่ 6, โฮเซ โอเคดา วัย 46 ปี เป็นคนที่ 7, เคลาดิโอ ยาเนส เป็นคนที่ 8, มาริโอ โกเมส ซึ่งอาวุโสที่สุด 63 ปี เป็นคนที่ 9, อเล็กซ์ เวกา วัย เป็นคนที่ 10, จอร์จ กัลเลกิยอส เป็นคนที่ 11, เอดิสัน ปินา วัย 34 ปี เป็นคนที่ 12, การ์ลอส บาร์ริออส วัย 27 ปีเป็นคนที่ 13, วิกเตอร์ ซาโมรา วัย 33 ปี เป็นคนที่14  วิคเตอร์ เซโกเรีย วัย 48 ปี เป็นคนที่ 15 ดาเนียล เฮอร์เรรา วัย 27 เป็นคนที่ 16 โอมาร์ เรย์กาดาส วัย 56 ปี เป็นคนที่ 17 เอสเตบัน โรจาส วัย 44 ปี เป็นคนที่ 18
        
       พาโบล โรจาส วัย 45 ปี เป็นคนที่ 19 ดาริโอ เซกาเวีย วัย 48 ปี เป็นคนที่ 20, ยอนนี บาร์ริรอส วัย 50 ปี เป็นคนที่ 21, ซามูเอล อวาลอส วัย 43 ปี เป็นคนที่ 22 คาร์ลอส บูกูเอโน วัย 27 ปี เป็นคนที่ 23, เฮโซ เฮนริเกรซ วัย 54 ปี เป็นรายที่ 24, เรนัน อวาลอส วัย 29 ปี เป็นรายที่ 25, เคลาดิโอ อาคูนา วัย 35 ปี เป็นรายที่ 26,แฟรงกลิน โลบอส วัย 53 ปี เป็นรายที่ 27, ริชาร์ด บีลาโรเอล วัย 27 ปี เป็นรายที่ 28, ฮวน อากิลาร์ วัย 49 ปี เป็นรายที่ 29, ราอูล บัสตอส วัย 40 ปี เป็นรายที่ 30, เปโดร คอร์เตซ วัย 24 ปี เป็นรายที่ 31 และ อาเรียล ติโคนา วัย 29 ปี เป็นรายที่ 32 และรายสุดท้ายคือลูอิส อูร์ซัว วัย 54 ปี ก็ถูกดึงขึ้นมาด้วยระยะเวลาห่างไล่เลี่ยกันเฉลี่ยนแล้วคนละราวครึ่งชั่วโมง
       
       ในการนี้ประธานาธิบดีชิลีก็ได้กล่าวสรรเสริญภารกิจนี้ว่าเป็น ปาฏิหาริย์ รวมทั้งชื่นชมทีมงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจที่ต้องจารึกลงประวัติศาสตร์คราวนี้ และชมเชยหัวจิตหัวใจของคนงานเหมืองทั้งหมดที่สู้ชีวิตอย่างไม่ท้อถอย
       
       ด้านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของชีลี แถลงว่า คนงานที่ถูกช่วยเหลือขึ้นมาทั้งหมดนี้มีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม ทว่าจากการที่อยู่ใต้เหมืองเป็นเวลานาน ทำให้พวกเขาอยู่ในสภาพที่อ่อนล้าและอิดโรยมาก
       
       ขณะที่นักจิตแพทย์หลายคนก็ออกมาเตือนว่า การที่คนงานติดอยู่ใต้ดินเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของพวกเขาไม่มากก็น้อย โดยที่จะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปและอาจประสบปัญหาในการปรับตัวกลับคืนสู่สภาพชีวิตปกติ
       
       เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ดำเนินต่อเนื่องจากวันพุธ (13) จนถึงวันพฤหัสบดี (14) นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในชาติชิลีแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ส่งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยในภารกิจนี้ ต่างก็หอบเอาเกียรติภูมิกลับประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ก็ได้แก่วิศวกรชาวไทย 2 คน นายวชิรพงศ์ นาคสารีย์ และนายสมพงษ์ พงกันยา ที่มีหน้าที่ตรวจสอบแนวเชื่อมโลหะของท่อที่ส่งลงไปในปล่องทางออก
       
       ก่อนหน้านี้ นายวชิรพงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยบอกว่า แทบไม่มีปัญหาในเรื่องของการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ทีมงานแต่ละส่วนล้วนเป็นมืออาชีพ มีการเตรียมพร้อมที่ดีมาก และไม่มีปัญหาติดขัดอะไรเลย อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า เจ้าหน้าที่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการเตรียมแผนสำรองไว้แล้ว ซึ่งถึงตอนนั้นอาจมีความเครียดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
       
       เขายังเผยถึงเหตุผลที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ว่า ทางสำนักงานใหญ่ในแคนาดาพิจารณาเห็นว่า คนไทยมีประสบการณ์ และความสามารถเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ทั้งยังมีความอดทน และการปรับตัวเข้าสังคมในพื้นที่ได้ง่ายกว่า



ผู้ตั้งกระทู้ preecha :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-14 11:25:02


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
แสงทองโทรทัศน์ จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และจานดาวเทียม จ.เพชรบุรี โทรศัพท์ 032-437117 , 032-461453 , 085-9746-444