![]() |
|
ฟรีทีวี VS ทีวีดาวเทียม (1)/ อำนาจอยู่ในมือ ผู้บริโภค | |
วันที่ อาทิตย์ ธันวาคม 2554
พิมพ์หน้านี้ | ดูบล๊อกอื่นๆ ที่ OKnation
ฟรีทีวี VS ทีวีดาวเทียม (1)/ อำนาจอยู่ในมือ ผู้บริโภค
อนาคตโทรทัศน์ของประเทศไทยกำลังจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว และจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ข้อสรุปของผมเกิดขึ้นหลังจากได้รับตัวเลข Penetration ผลสำรวจล่าสุดเดือน ส.ค.ของบริษัท AGB Nielsen อัตราการขยายตัวของผู้ชมโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ได้เข้าไปอยู่ในบ้านของครัวเรือนไทยมากถึง 50 % แล้วหรือประมาณ 11 ล้านครัวเรือนหรือสามารถเข้าถึงคนดูมากกว่า 38.5 ล้านคน (1 ครอบครัวเฉลี่ย 3.5 คน)
เดิมแทบจะทุกครัวเรือนไทยหรือ 99% สามารถดูโทรทัศน์ประเภทฟรีทีวีได้ 6 ช่องเป็นเวลา 30-40 ปี แต่อัตราการเพิ่มอย่างรวดเร็วของเคเบิลทีวีท้องถิ่น จานดาวเทียมในช่วง 5 ปีย้อนหลังที่มี "ทีวีดาวเทียม" เป็นหัวหอกได้ถาโถมเข้าไปมากกว่า 80-150 ช่อง ทำให้ประมาณ 50% ของครัวเรือนไทยมีโอกาสเข้าถึงข่าวสาร-ความบันเทิง-ความรู้จากช่องโทรทัศน์ฟรีทีวีกับทีวีดาวเทียมได้มากกว่า 100 ช่อง แต่ยังเหลืออีก 50% ที่ไม่ได้ติดตั้งเคเบิลทีวีท้องถิ่นและจานดาวเทียมที่ยังดูโทรทัศน์ได้แค่ 6 ช่อง
อัตราการเพิ่มของเคบิลทีวีดาวเทียมและจานดาวเทียมในปีนี้ประมาณเดือนละ 0.7-1% ของครัวเรือนไทยหรือเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 150,000-200,000 ครัวเรือน หรือปีละประมาณ 2-2.4 ล้านครัวเรือน
เทียบผลสำรวจเดือน ส.ค.ปีนี้กับปีที่แล้ว ยอด Penetration เคเบิลทีวีกับจานดาวเทียมทุกประเภทเพิ่มจาก 44% เป็น 50% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 6% คิดเป็น 1.7 ล้านครัวเรือน
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2.2 ล้านครัวเรือนคิดเป็น 56% ของครัวเรือนที่มีเคเบิลทีวีและจานดาวเทียมเพิ่มขึ้นถึง 15% ถือเป็นปีที่มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้า
เขตเทศบาลหรืออำเภอเมืองของทุกจังหวัด 3.5 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 57% ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 4% โดยส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งเคเบิลทีวี
นอกเขตเทศบาลของทุกจังหวัด 5.3 ล้านครัวเรือนคิดเป็น 44% เพิ่มขึ้น 4% โดยส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งจานดาวเทียม ซึ่งอัตราการเพิ่มลดลงจาก 2 ปีที่แล้ว ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงอัตราการเพิ่มมากถึง 16%
คาดการณ์ได้ว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าครัวเรือนไทยอย่างน้อย 75% จะสามารถดูโทรทัศน์ได้มากกว่า 100 ช่อง เมื่ออยู่บนจานดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีบนแพลตฟอร์มเดียวกัน คนดูแทบจะแยกไม่ออกว่าช่องไหนเป็นฟรีทีวีช่องไหนเป็นทีวีดาวเทียม
นั่นหมายความว่า คนดูที่ถือรีโมตจะมีอำนาจในการเลือกชมช่องรายการต่างๆ ที่ส่งมาถึงบ้าน แบบไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิก (ไม่อยากเรียกว่า "ฟรี" เพราะของฟรีไม่มีในโลก ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าตลาดสินค้าที่มีต้นทุนโฆษณาในสื่อทีวี) บนพื้นฐาน "ความชอบ" หรือรายการถูกใจมากกว่าเรื่องอื่น ช่องไหนรายการไหนไม่มีการพัฒนาคุณภาพหรือขาดความคิดสร้างสรรค์รูปแบบใหม่จะไม่ถูกเลือกอย่างแน่นอน | |
ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2012-02-22 15:23:10 |
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (3277656) | |
คำกล่าว Content is The King จะเริ่มกลับมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคที่มีอำนาจอยู่ในมือกดรีโมตเปลี่ยนช่องได้ทุกนาที ช่องทางการออกอากาศจะไม่มีอำนาจเหนือ Content อีกต่อไป เพราะช่องทางเผยแพร่ช่องรายการจะไม่จำกัดเฉพาะเคเบิลทีวี จานดาวเทียม แต่จะส่งผ่านไปยังเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนอุปกรณ์ Tablet ที่มีราคาถูกลงตลอดเวลาสะดวกในการรับชมช่องรายการทีวีทั้งแบบ Live หรือดูย้อนหลัง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เข้าไปมีส่วนเล็กๆ กับผู้ประกอบการจานดาวเทียมและช่องทีวีดาวเทียม ร่วมกันผลักดันแนวทางการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและชมรมผู้ค้าและผู้ผลิตจานดาวเทียมไม่รอ กสทช. เพื่อเร่งสร้างมาตรฐานการจัดหมวดหมู่เนื้อหาและการจัดเรียงช่องทีวีดาวเทียมบนแพลตฟอร์มดาวเทียมไทยคมระบบ C-Band ที่ปีนี้มีจำนวนช่องล่าสุด 155 ช่อง เพิ่มจากปีที่แล้ว ที่มีประมาณ 90 ช่อง เฉลี่ยแล้วในปีนี้มีผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม "ขึ้นช่อง" บนแพลตฟอร์มดาวไทยเทียมไทยคมระบบ C-Band หรือเปิดช่องใหม่ "สัปดาห์ละ 1 ช่อง" ที่ถือเป็นอัตราการเพิ่มสูงสุดของช่องทีวีดาวเทียม และถ้าหากรวมทีวีดาวเทียมบนอีกแพลตฟอร์มดาวเทียม NSS6 ที่เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยว่า 15-20 ช่อง และยังมีเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มของทรูวิชั่นส์ที่เป็นเคเบิลทีวีระดับประเทศรายเดียวอีกร่วม 10-15 ช่อง น่ามหัศจรรย์มากๆ กับการผุดยิ่งกว่าดอกเห็ดของทีวีดาวเทียมเปิดตัวในปีนี้ใน 3 แพลตฟอร์มประมาณ 80-90 ช่อง เฉลี่ยออกมาน่าจะสัปดาห์ละ 2 ช่อง การจัดเรียงช่องมาตรฐานทีวีดาวเทียมเป็นหมวดหมู่ประมาณ 10 หมวดกับ 155 ช่องที่จะมีหมายเลขประจำช่องเดียวกันบนจานดาวเทียม 4 รายใหญ่หรือ Big 4 ที่ประกอบด้วย Infosat,Thaisat,Ideasat,Leotech ที่มีผู้ใช้จานรวมประมาณ 2 ล้านใบหรือเท่ากับ 2 ล้านครัวเรือน แต่จำนวนกล่องรับสัญญาณแต่ละบ้านมีมากกว่า 1 กล่องรวมประมาณ 5 ล้านกล่อง นับจากเมื่อวันพฤหัส 15 ธ.ค. ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของผู้ผลิตจานดาวเทียม 4 ราย อาจจะสับสนในระยะแรกๆ ว่า ช่องที่เคยดูอยู่มีการเปลี่ยนเลขช่องโดยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี OTA แต่เชื่อเถอะว่าจะเกิดความสะดวกสบายในการรับชมที่ไม่สับสนอีกต่อไปกับเบอร์ช่องรายการทีวีดาวเทียมที่ชื่นชอบที่มีให้เลือกถึง 150 ช่อง
| |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-02-22 15:24:07 |
ความคิดเห็นที่ 2 (3277657) | |
ผู้ประกอบการจานดาวเทียมรายใหญ่สุด คือ PSI ที่มีส่วนแบ่งตลาด 50% ไม่มีมาตรฐานการจัดเรียงช่องเป็นหมวดหมู่ตามเนื้อหาช่องรายการ และทำ ธุรกิจ "กำหนดราคาขาย" หมายเลขช่อง ให้กับเจ้าของช่องทีวีดาวเทียมที่ต้องการหมายเลขต้นๆ ในอัตราช่องละไม่น้อยกว่า 5-6 แสนบาทที่ราคาใกล้เคียงกับค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมของดาวเทียมไทยคม เป้าหมายของการจัดหมวดหมู่ช่องรายการและกำหนดหมายเลขประจำของช่องทีวีดาวเทียมของ Big4 เพื่อจะทำให้ธุรกิจนี้มีมาตรฐานในการทำธุรกิจ แข่งขันกันบนคุณภาพของบริการติดตั้งจานดาวเทียม,การผลิตเนื้อหาช่องรายการ เพราะผู้บริโภคจะง่ายต่อการจดจำหมายเลขช่องทีวีดาวเทียมที่ต้องการชมและผู้บริโภคที่ยังไม่ได้ติดตั้งจานดาวเทียมก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในการเลือกติดตั้งจานดาวเทียม 4 รายใหญ่ที่มีการจัดเรียงช่องมาตรฐานเบอร์เดียวกันทุกจานดาวเทียม เป้าหมายอีกอย่างคือเพื่อให้การกำกับดูและของหน่วยงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เป็นไปอย่างสะดวกขึ้น ลดความสับสนว่าช่องทีวีดาวเทียมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหรือไม่ใช่เบอร์เดียวกันในแต่ละจานดาวเทียม ผมหวังว่าในอนาคตผู้ผลิตจานดาวเทียมอีกหลายราย โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ อย่าง PSI , Dynasat ฯลฯ น่าจะลองจัดหมวดหมู่เนื้อหาและจัดเรียงช่องมาตรฐานแบบเดียวกับกลุ่ม Big4 หรือถ้าไม่อยากเรียงแบบเดียวกันก็ได้แต่ขอให้กำหนดมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดหมวดหมู่เนื้อหาและการกำหนดหมายเลขช่อง เพื่อพัฒนาธุรกิจนี้แบบ WIN-WIN มากกว่าจะทำ "ธุรกิจขายเบอร์ช่อง" ที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการช่องทีวีดาวเทียมที่ควรจะใช้เงินไปกับการพัฒนาเนื้อหามากกว่าจะไปซื้อเบอร์ช่องไว้เบอร์ต้นๆ | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-02-22 15:25:00 |
ความคิดเห็นที่ 3 (3277658) | |||
| |||
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-02-22 15:25:48 |
[1] |
Copyright © 2010 All Rights Reserved. |
![]() |
Visitors : 277573 |