![]() |
|
ชง กสทช.หา กล่องรับสัญญาณ เดียวดูทีวีดาวเทียมได้ทุกช่อง | |
วันพฤหัสบดีที่ 06 กันยายน 2012 เวลา 08:00 น.เขียนโดย isranewsหมวดข่าว
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีการเสวนาสาธารณะเรื่อง กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์กับผู้บริโภคสื่อในยุคดิจิตอล โดยมี น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เหตุที่ กสทช.จัดเวทีนี้ขึ้นเพราะเวลามีตลาดกล่องรับัสัญญาณทีวีมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ขณะที่ กสทช.กำลังทำร่างประกาศ กสทช.เกี่ยวกับการนำเข้ากล่องรับสัญญาณทีวี โดยหน้าที่ของ กสทช.นอกจากคุ้มครองผู้บริโภค ยังต้องส่งเสริมให้ผู้ประบกอบการแข่งขันกันด้วย เพราะปัจจุบันแม้จะมีแต่กล่องรับสัญญาณทีวี ระบบ digital ผ่านดาวเทียม แต่ในปีหน้าจะมีกล่องรับสัญญาณทีวี ระบบ digital ภาคพื้นที่ดินเพิ่มขึ้นมาอีก ดร.ปีเตอร์ กัน ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ทีวีดาวเทียมเริ่มมีความนิยมตอนที่ CNN เกิดขึ้น แล้วช่อง 9 นำภาพจาก CNN ขึ้นมา ทำให้เริ่มมีการพัฒนาจานดำ เพื่อรับข่าวสารโดยเฉพาะ เพราะคนอยากได้รับข่าวมากขึ้นโดยไม่ถูกกรอง เลยมีการตั้งบริษัทเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเกิดขึ้น ตอนนั้นจะมีผู้ประกอบการ 2 เจ้า คือ IBC กับ UTV ที่รวมเป็น UBC กับกลุ่ม SAMART ทาง UBC เปลี่ยนจากการเช่าเครี่องมาเป็นการขายจาน โดยร่วมมือกับ SAMART หลังจากนั้นก็เกิดจานสีต่างๆ แดง ฟ้า เหลือง ดำ ฯลฯ ตามมา แล้วก็เกิดการนำ content ขายเป็นแพจเกจไปด้วย นำไปสู่การใส่รหัส จนพัฒนามาสู่ปัจจุบัน
| |
ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2012-11-08 16:32:33 |
[1] |
ความคิดเห็นที่ 1 (3302776) | |
ชงทำกล่องเดียวรับได้ทุกค่าย ดร.ปีเตอร์ กล่าวว่า เวลานี้ ที่ยุโรปเกิดการพัฒนาระบบ hybrid ทำให้รับได้ 2 ภาค คือทั้งภาคพื้นดินและภาคดาวเทียม สนุกสนานขนาดบอกว่าจะเอาอินเตอร์เน็ตใส่ไปด้วย แต่ในไทยการแข่งขันเรื่อง content ยังเป็นเรื่องหลัก แต่ต่างคนต่างไม่ใว้ใจกันและกัน จึงมีระบบใส่รหัสที่ต่างกันออกไป ทำให้ไทยมีจานสีต่างๆ บนหลังคา และในห้องรับแขกมีกล่องวางซ้อนกันเป็นเถาปิ่นโต เราจะทำให้เกิด single platform ได้ไหม ใช่กล่องเดียวรับทีวีได้จากทุกเจ้า แล้วแทนที่จะมาแข่งเรื่อง box ก็มาดูเรื่องสัญญาณใครจะชัดกว่า เวลานี้ เราเห็นแต่เวทีเรื่องเทคดนโลยี แต่ยังไม่เห็นเรื่องของ information ดร.ปีเตอร์กล่าว นายนิรันดร์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ประธานชมรมผู้ผลิตและค้าจานดาวเทียม (กลุ่ม Big 4) และกรรมการผู้จัดการอินโฟแซท กล่าวว่า ทีวีดาวเทียมทำให้คนในชนบทรับรู้ข่าวสารเท่ากับคนในเมือง วิวัฒนาการของกล่อง จากรุ่น analog มาสู่ digital เกือบๆ 10 ปีที่แล้ว ยุค digital กล่องที่เราจะนำมาใช้งานมี 2 ประเภท 1.แบบ free-to-air ชื่อก็บอกว่าเอาไปรับรายการแบบฟรี ซึ่งถ้าเป็นดาวเทียมไทยคม 5 จากเป็นช่อง C Band แบบฟรีที่รับได้ในระบบจานดำ C Band มีราว 200 ช่อง มีเนื้อหาที่หลากหลาย และ 2.แบบ Scramble สัญญาณ ส่วนใหญ่จะอยู่ระบบ KU Band ถ้าเอากล่อง C Band มารับ จะรับไม่ได้ เพราะมีการล็อคสัญญาณ | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-11-08 16:32:58 |
ความคิดเห็นที่ 2 (3302777) | |
ยก 6 สาเหตุจานบูม นายนิรันดร์ กล่าวว่า เวลาผู้บริโภคมาซื้อจานดาวเทียม เขาต้องการอะไร เท่าที่สอบถามคือ (1) เขาอยากจะดูฟรีทีวี เพราะติดเสาก้างปลายังไงก็ไม่ชัด นอกจากนี้ คนซื้อจานจะเข้ามาถามว่า (2) ดูได้กี่ช่อง ฟรีหรือเปล่า ถ้าจานดำ 200 กว่าช่อง จาน KU Band 70-80 ช่อง หลังจากนั้น (3) ผู้บริโภค เดี๋ยวนี้เขาฉลาด รู้จักคำว่า OTA คือการจัดช่องให้ จะถามว่ามี OTA ไหม เป้าหมายคือเพิ่มช่องให้ ลดช่องที่หาย 3-4 ปีก่อนเวลาฟรีทีวีเปลี่ยนช่องทีวุ่นทั้งเมือง แต่ตอนนี้มีระบบนี้มารองรับแล้ว คำถามต่อไปคือเขาจะถามว่าดูได้ (4) จอไม่ดำใช่มั้ย (5) เมื่อเขาตัดสินใจจะซื้อแล้ว เขาจะถามว่าคุณภาพขนาดไหน คงทนขนาดไหน มีศูนย์บริการแค่ไหน มี มอก.หรือเปล่า (6) เขาต้องการดูอะไรที่ไม่ใช่ free-to-air แล้ว ต้องการดูฟุตบอลต่างประเทศ ก็ต้องซื้อกล่องที่ใส่รหัสแล้ว ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนก็อยากให้มันอยู่ในกล่องเดียว แต่ปัญหาเวลานี้มี 3 ส่วน ของผู้บริโภค ของผู้ติดตั้ง และของคนทำรายการ วันนี้มีผลสำรวจว่าคนดูฟรีทีวี 6 ช่อง 3 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทีวีดาวเทียมอีกกว่า 200 ช่อง คนดูแค่ 2 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน น้อยมาก ต่อไปถ้ากล่องรับสัญญาณทีวี digital ระบบภาคพื้นดิน ออกมาก็น่าจะมีเพิ่มอีก 40-50 ช่อง ในเมื่อทีวีมี 400-500 ช่อง แต่ทีวีดาวเทียมกล่องนึงรับได้แค่ 200 ช่อง จะรับหมดได้อย่างไร | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-11-08 16:33:20 |
ความคิดเห็นที่ 3 (3302778) | |
เผยเมืองไทยมี 15 ล้านกล่อง ในฐานะสมาคมฯ เราก็ต้องมาสุมหัวเรียงช่องใหม่ แต่จะทะเลาะกันวุ่นวาย เพราะใครๆ ก็อยากอยู่ช่อง 11 เพราะช่อง 1-10 มันอยู่ไม่ได้ วิธีแก้ปัญหาคือไม่ต้องเรียงหรอกช่อง แต่แยกประเภทให้ชัดเจน โดยจะต้องมีหลักการ ว่าสัดส่วนรายการเท่าไร เช่น ถ้าข่องข่าวต้องมีข่าวเกิน 50% ถ้าช่องเพลงต้องมีเพลงเกิน 50% แล้วก็ให้ทำรีโมตที่มีการเลือกประเภท เช่น ช่องข่าว ช่องเพลง ให้ชัดเจน นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล ที่ปรึกษานายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ถ้าชาวบ้านดูฟรีทีวผ่านเดียว ใช้ของกลุ่ม Big 4 ก็จะดูได้ 200 ช่อง แต่จะดูฟุตบอลต่างประเทศไม่ได้ เพราะจะอยู่ในกล่อง Sunbox GMMZ และ PSITrueTV ในอนาคตก็จะมี 2-3 กล่องเพิ่มเติม วิธีแก้ปัญหาให้ดูเคเบิลทีวี เรามีรายการนั้นหมด ใช้รีโมตอันเดียว ดูได้ทุกรายการ แต่ปัญหาคือจะรับเคเบิลได้ สายผมต้องถึง เวลานี้ช่องของผมมีจำกัด 80-90 ช่อง ผมต้องเปลี่ยนเป็น digital ตอนนี้คนดูทีวีดาวเทียม จากล่อง C Band 10 ล้านกล่อง KU Band 5 ล้านกล่อง โดยโทรทัศน์ในประเทศ มีอยู่ราว 30 ล้านเครื่อง เป็นไปได้ไหมว่า ในอนาคตตะมีกล่องที่รับได้ทั้งจากทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ขึ้นอยู่กับ กสทช.จะยอมให้มีกล่องแบบนี้ไหม | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-11-08 16:33:45 |
ความคิดเห็นที่ 4 (3302779) | |
วอนอย่ามองธุรกิจเป็นผู้ร้าย-ทวงคลอด Pay TV นายมานพ โตการค้า ประธานบริษัทไอพีเอ็ม กล่าวว่า ผู้ค้าไม่ใช่ผู้ร้ายของสังคม เมื่อก่อนเรามีแค่ฟรีทีวี อย่างอื่นไม่มีอะไรดูเลย ได้ทางเนชั่นเริ่มส่งระบบดาวเทียมช่องแรกๆ แล้วก็มี MVTV แล้วก็ IPM พอฟรีทีวีมารวมบนดาวเทียมดวงเดียวกัน จานก็มีมากขึ้น ช่องรายการก็มีมากขึ้น ก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ อยากจะเรียนว่าผู้ประกอบการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้นมา จาน 10 กว่าล้านจาน เป็นอุตสาหกรรมใหญ่มาก ผู้ค้าจานไม่ใช่จำเลยของสังคมเสมอไป พวกเราจ่ายภาษีแต่ละปีมหาศาล ทั้งๆที่กล่องรับสัญญาณทีวีเราอยู่ในอุปกรณ์นำเข้าโทรทัศน์ จ่ายภาษีนำเข้า 20% VAT 7% แล้วก็มีภาษีประกอบการอีก แล้วร่างกฎหมายใหม่ก็ยังมีภาษีอีกอื้อเลย พวกเราเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าระบบ C Band และ KU Band เราอยากให้ทุกกล่องรวมกันได้ด้วยซ้ำ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ แต่ในเมืองตลาดมีการแข่งขัน มันเป็นโลกการค้าเสรี การที่มีกล่องเพิ่มขึ้น ก็เป็นทางเลือกของผู้บริโภค แล้วปัจจุบันคนที่ซื้อกล้อง a-la-carte เป็นคนอีกกลุ่ม ไม่ใช่คนพื้นฐาน เขายอมซื้อเป็นกล่องที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เพราะมีทีวีในบ้านหลายเรื่อง ปัจจุบันกล่องมีราคาถูกมาก กำไรแต่ละกล่องไม่รู้ได้ 50 บาทหรือเปล่า นายธีระยุทธ บุญโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสไทยคม กล่าวว่า ในทางเทคนิค กล่องดาวเทียมรับได้ทั้ง C Band และ KU Band แล้วกล่องบ้านเรามาตรฐาน DVD ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้ารหัสแบบไหน อยู่ที่ผู้ประกอบการ หากยอมให้เข้ารหัสร่วมกันได้ เย็นนี้ก็ดูได้แล้ว จะดูรายการข้ามกันได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อกล่องใหม่ แต่เนื่องจาก pay license ยังไม่ออก ทำให้ผู้ประกอบการต้องขายกล่องของตัวเอง ถ้า pay license ออกแล้ว ใช้กล่องเดียว แค่ซื้อรายการเพิ่ม ก็ดูได้แล้ว จึงอยากให้ กสทช.รีบออกประกาศเรื่องนี้ ขอสนับสนุนแนวคิดนายวิชิต ให้มีกล่องแบบ hybrid ดูข้ามกันได้ | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-11-08 16:34:30 |
ความคิดเห็นที่ 5 (3302780) | |
เสนอไอเดียประมูลเรียงช่อง-ถูกค้านทันควัน นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทสยามอินเทลลิเจนต์ยูนิต กล่าวว่า ผมคิดว่าตอนนี้อุตสาหกรรมทีวีบ้านเรา มีทางเลือกในการรับช่องเยอะมาก ภาพรวมการซื้อกล่องรับสัญญาณทีวี ผู้บริโภคซื้อไม่ได้ติดใจว่าส่งข้อมูลผ่านอะไร เคเบิลหรือดาวเทียม ตัวสื่ออาจไม่สำคัญเท่ารายการ ที่เนื้อหาแบบ free-to-air กสทช.กำหนดมาตรฐานได้ นอกจากนี้ ก็มีมาตรฐานของช่อง แม้จะเป็นเรื่องยุ่ง แต่ กสทช.ก็อาจจะวางช่องต้นๆ 1-50 โดยอาจใช้วิธีการประมูล ใครอยากอยู่ช่องดี ก็จ่ายเงินแพงหน่อย ส่วนช่องที่ 51 ขึ้นไปให้ผู้ประกอบการจัดสรรกันเอง ส่วนเนื้อหาแบบ exclusive ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มีราคา ผู้บริโภคก็อยากดูฟุตบอล หลักๆ ตอนนี้มี 3 เจ้าใหญ่ ทรู แกรมมี่ และอาร์เอส ที่ไปซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาฉาย ดร.นิพนธ์ กล่าวแย้งว่า ที่บอกว่าให้ 50 ช่องแรก แข่งกันประมูล ผมไม่ได้วิจัย แต่เท่าที่สัมผัสมา แค่ 20 ช่องก็มีปัญหาแล้ว ดร.ปีเตอร์ กล่าวว่า กสทช.ต้อง regulate ประเภทของช่อง แล้ว re-group แล้วการแข่งขันเรื่อง information จะเกิดขึ้น เช่นกลุ่มข่าว ประชาชนจะวัดผลเองข่าวช่องไหนจะได้เลื่อน หรือกลุ่มเพลง ประชาชนจะตอบว่าช่องไหนนิยม ช่องไหนตาย เป็นการวัดเรตติ้งไปในตัว จะได้ฆ่าบริษัทวัดเรตติ้งอย่าง AC Nielson เสียที | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-11-08 16:35:09 |
ความคิดเห็นที่ 6 (3302781) | |
ชี้ตลาดทีวีเริ่มอิ่มตัว-จี้ กสทช.วางกติกาชัดๆ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (เอ็นบีซี) กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีกติกา แต่ตอนนี้เหมาะสม เพราะมีทั้งเทคโนโลยีแนะเนื้อหา เนชั่นทำเนื้อหาเยอะมาก โอกาสคืนทุนนาน ที่มีอยู่ 200 ช่อง ผมว่ามีไม่เกิน 20 ช่องที่คืนทุนได้ เรามาพูดเรื่องกล่องอย่างเดียวไม่จบหรอก อุตสาหกรรมนี้เป็น supply chain อยากให้ทำทีเดียว ถ้าจะมีประกาศ มีการขออนุญาตอะไร ให้ทำทีเดียว ปัญหาการ broadcast บ้านเราคือมีคนผูกขาดอย่าง 6 ช่อง ผู้ผลิตเล็กๆ ไม่มี พอมีดาวเทียม ก็มีผู้ผลิตเล็กๆ แล้วเงินทุนได้จากโฆษณา พอมีกล่องแล้วมันจะวัดความนิยมได้ อยากให้พิจารณาประกาศ กสทช.เรื่องการนำเข้าใหม่ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลย อยากให้ดูเรื่องโครงข่าย เนื้อหา อยากให้มองทั้ง supply chain แล้วอุตสาหกรรมจะดีขึ้น ตอนนี้มันขาขึ้น วิน-วิน อย่างปี 2554 เกิด 100 ช่อง แต่ปี 255 ถึงเดือน 8 มีช่องเกิดสุทธิไม่เกิน 10 สิ้นปีไม่เกิน 20 เริ่มถึงจุดที่มันพอดีๆแล้ว ผู้เล่นออกมาเกือบหมดแล้ว ดังนั้นกรรมการต้องวางกติกาให้ดี อยากให้ กสทช.วางกติกาให้จบเสียที นายอดิศักดิ์กล่าว นายทนงศักดิ์ สุขะนินทร์ รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานขับเคลื่อนกิจการโทรทัศน์เคลื่อนที่และโทรทัศน์ในระบบไอพี สำนักงาน กสทช.กล่าวว่า ที่เรียกร้องเรื่องกล่องเอกประสงค์ ราคาจะแพงกว่ากล่องปกติ 2-3 เท่า ในสหรัฐอเมริกาก็เคยมีการลงทุนให้มีกล่องรับสัญญาณทีวีลักษณะนั้นเหมือนกันแต่ล้มเหลวเพราะราคาแพงมาก ทั้งนี้อุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมในแต่ละประเทศแตกต่างกัน อย่างในประเทศเกาหลีใต้และสิงคโปร์ ปรากฎว่าทีวีดาวเทียมแทบไม่ได้เกิดเพราะคนนิยมอยู่ในตึกสูงๆ อยากให้มองไปในอนาคต ไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า ที่กล่องรับสัญญาณทีวีแต่ละกล่องจะหมดอายุพอดี แล้วจะมีทีวีที่มีกล่องรับสัญญาณอยู่ในตัวเกินขึ้นมาแทบ เรื่องนี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ | |
ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2012-11-08 16:35:59 |
[1] |
Copyright © 2010 All Rights Reserved. |
![]() |
Visitors : 275257 |